ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอน.

โครงการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอน.
(Natural Resources and Environment Conservation Club, OCSB)
๑. หลักการและเหตุผล
มนุษย์มีความสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด ทั้งในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในการดำรงชีวิต ดังนั้นบริการต่างๆ ที่มนุษย์ได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงช่วยให้มนุษย์มีชีวิตรอดอยู่ได้ และสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการรู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างชาญฉลาด (Wise Use) และมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นระบบอย่างเหมาะสม โดยจะต้องคำนึงถึงขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity) เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน (Sustainable Utilization) เพราะหากตักตวงใช้เกินขนาดและขาดความระมัดระวังในการใช้ ก็ย่อมจะก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนกลายเป็นปัญหาที่ย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของมนุษย์ในที่สุด
การจัดการทางการเกษตรที่ไม่เหมาะสม เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยกตัวอย่างเช่น การผลิตอ้อยที่มีการเผาอ้อยในแปลงปลูกเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งโรงงาน ซึ่งก่อให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างมากมาย เช่น การเร่งสภาวะโลกร้อน (Global Warming) ให้มีความรุนแรงยิ่งขึ้น จากการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ การปลดปล่อยก๊าซพิษ (Toxic Gases) และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (Particulate Matter) ซึ่งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจของประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ความร้อนจากการเผาไหม้ทำลายสิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ ทั้งตัวห้ำตัวเบียน จุลินทรีย์ปฏิปักษ์และจุลินทรีย์เกื้อกูล (Antagonistic and Associated Microorganism) อีกทั้งยังเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและธาตุอาหารในดิน โครงสร้างดินเสียหาย แน่นทึบ ระบายน้ำและอากาศได้ไม่ดี ไม่ถูกต้องตามหลักการอนุรักษ์ดิน ซึ่งในอนาคตอาจทำให้เกษตรกรมีต้นทุนในการจัดการการผลิตเพิ่มสูงขึ้นเพื่อรักษาระดับปริมาณผลผลิตไม่ให้ลดลงจากเดิม
ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อาศัยรายได้หลักจากการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ แม้ว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศไทย โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมากกว่า ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท แต่จากการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีการลดกำแพงภาษีในการนำเข้าลง ทำให้เกิดการแข่งขันของสินค้าภายในและภายนอกประเทศ หลายๆ ประเทศจึงมีการสร้างมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีขึ้น (Non-Tariff Barriers) ซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาตรการทางสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาโลกร้อน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มาใช้เป็นข้ออ้างในการกีดกันทางการค้า หากการจัดการการผลิตอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำตาลทรายไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในอนาคตจึงมีความเสี่ยงที่สินค้าน้ำตาลทรายอาจถูกกีดกันการนำเข้าจากประเทศคู่ค้า ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศไทยทั้งระบบ
จากการกำหนดพันธกิจใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในปี พ.ศ.๒๕๖๑ ในการเพิ่มผลิตภาพอ้อยและน้ำตาลทรายของประเทศ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม บุคลากรของ สอน. จำนวนหนึ่งได้ความตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมีความต้องการร่วมกันในการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอน. เพื่อช่วยสร้างจิตสำนึกในการรักษาและส่งเสริมคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่บุคลากรของ สอน. และเป็นการสนับสนุนให้สมาชิกของชมรมได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการแสดงบทบาทของบุคลากรของรัฐนอกเหนือไปจากงานตามภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยมีความมุ่งหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยมีความสมบูรณ์และคงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
๒. วัตถุประสงค์
          .๑ เพื่อสร้างจิตสำนึกในสังคมและสนับสนุนให้สมาชิกได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
           ๒.๒ เพื่อช่วยเหลือหรือให้ความร่วมมือในกิจกรรมของหน่วยงานทางด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
             ๒.๓ เพื่อรักษาและส่งเสริมความสัมพันธ์และความสามัคคีระหว่างสมาชิกในชมรม
๓. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
          ๓.๑ สมาชิกมีจิตสำนึกในการรักษาและส่งเสริมคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          ๓.๒ กิจกรรมของชมรมมีส่วนช่วยให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมได้รับการฟื้นฟู
          ๓.๓ เกิดระบบภาคีเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
         ๓.๔ สมาชิกของชมรมมีความสัมพันธ์ที่ดีและมีความสามัคคีกัน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในหน่วยงานต่อไป
๔. กลุ่มเป้าหมาย
          ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ และลูกจ้างกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ในสังกัดราชการบริหารส่วนกลาง และราชการบริหารส่วนภูมิภาค จำนวนไม่น้อยกว่า ๓๐ คน
๕. ที่ปรึกษาโครงการ
          นายประสิทธิ์ วงษาเทียม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย
๖. ผู้รับผิดชอบโครงการ
          คณะกรรมการชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอน. จำนวน ๘ คน
๗. การดำเนินการของชมรม
          ๗.๑ สรรหาคณะกรรมการชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอน.
          .๒ จัดกิจกรรมด้านการส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
          ๗.๓ จัดกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับชุมชนหรือหน่วยงานต่างๆ
          ๗.๔ ประชาสัมพันธ์งานของชมรมให้ภายในและภายนอกสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทราบ
          ๗.๕ ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของชมรมอย่างต่อเนื่อง
๘. ระยะเวลาในการดำเนินการ
          ตั้งแต่วันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้นไป
๙. งบประมาณในการดำเนินการ
          ๙.๑ เงินกองทุนสวัสดิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย
๙.๒ เงินค่าลงทะเบียนสมาชิกและค่าบำรุงสมาชิกรายปี
๙.๓ เงินบริจาค
๑๐. สถานที่ดำเนินการ
          อาคารสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ ๖ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
>> คลิกเพื่อดาวน์โหลดใบสมัคร <<
สมัครได้ตั้งแต่วันที่ ๑ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๐

ความคิดเห็น